สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี...ยินดีต้อนรับ...
ข้อมูลทั่วไป
                    
                         จังหวัดนนทบุรีเป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ”บ้านตลาดขวัญ” ในปี พ.ศ. 2092 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ   โปรดให้ยกฐานะขึ้นเป็น
เมืองนนทบุรี พร้อมกับเมืองสาครบุรีและเมืองนครชัยศรี  “บ้านตลาดขวัญ”  เป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์และเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อของกรุงศรีอยุธยาดังปรากฏ
ในจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า “สวนผลไม้ที่บางกอกนั้นมีอาณาบริเวณยาวไปตาม
ชายฝั่ง โดยทวนขึ้นสู่เมืองสยามถึง 4 ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหาร ซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา…”

                         สภาพพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเป็นที่ราบลุ่ม ตั้งขนาบอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในพื้นที่จังหวัดมีคูคลองธรรมชาติและคูคลองที่ขุดขึ้นใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
กว่า 35 สาย แต่ละสายเชื่อมต่อกัน และใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่กันระหว่างหมู่บ้าน ตำบล และเชื่อมกับการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้เกิดเป็นย่านชุมชน
หนาแน่นขึ้นตามริมฝั่งน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและริมคลองสายต่างๆ คลองที่สำคัญคือคลองบางกอกน้อย คลองอ้อมเกร็ด และคลองบางใหญ่ซึ่งยังใช้เป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ
ของชุมชนริมน้ำในปัจจุบัน ชาวนนทบุรีจึงดูจะเป็นชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่คุ้นเคยกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต

                         ระหว่างคูคลองต่างๆ  เป็นสวนผลไม้ที่มีการใช้ภูมิปัญญาจัดระบบการปลูกดูแลรักษาจนได้ผลไม้ที่มีรสชาดดีเยี่ยมมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมมาตั้งแต่
สมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน มังคุด ชมพู่มะเหมี่ยว ซึ่งผู้บริโภคยอมซื้อรับประทานแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าแหล่งผลิตอื่น แต่ปัจจุบันสวนผลไม้ดังกล่าว ค่อยๆ ถูกเปลี่ยนเป็นย่านธุรกิจและที่อยู่อาศัยของคนในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นจังหวัดปริมณฑลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกระบบเชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานครฯ จนแยกแทบ
ไม่ออก

                         นอกจากนี้พื้นที่รอบนอกบางอำเภอยังเป็นที่รองรับการขยายตัวในด้านอุตสาหกรรม มีการจัดสรรพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น นนทบุรีจึงเป็นจังหวัดที่มีปริมาณการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสูงอีกจังหวัดหนึ่งของประเทศ

พื้นที่และอาณาเขตจังหวัด

                         จังหวัดนนทบุรี มีพื้นที่ประมาณ 622.303 ตารางกิโลเมตร หรือ 388,939 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครฯ เพียง 20 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในห้าจังหวัดปริมณฑล
ของกรุงเทพฯ อาณาเขตพื้นที่ทิศเหนือติดจังหวัดปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ทิศใต้ติดจังหวัดกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกติดจังหวัดกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เขตดุสิต เขตบางเขน ไปจนจรดจังหวัดปทุมธานี ทิศตะวันตกติดจังหวัดนครปฐม  แบ่งเขตการปกครองเป็น  6  อำเภอ   ประกอบด้วย
                                        1. อำเภอเมือง             ระยะทางจากอำเภอเมืองนนทบุรี     0   กิโลเมตร
                                        2. อำเภอปากเกร็ด      ระยะทางจากอำเภอเมืองนนทบุรี   10   กิโลเมตร
                                        3. อำเภอบางกรวย      ระยะทางจากอำเภอเมืองนนทบุรี   15   กิโลเมตร
                                        4. อำเภอบางใหญ่       ระยะทางจากอำเภอเมืองนนทบุรี   20   กิโลเมตร
                                        5. อำเภอบางบัวทอง    ระยะทางจากอำเภอเมืองนนทบุรี   25   กิโลเมตร
                                        6. อำเภอไทรน้อย       ระยะทางจากอำเภอเมืองนนทบุรี   30   กิโลเมตร


ประชากรในจังหวัดนนทบุรี

                         ประชากรของจังหวัดนนทบุรีประกอบไปด้วย ชนชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากหลายเชื้อชาติ มีทั้งไทย จีน มอญ แขก ชนชาติไทยมีอยู่ทั่วไปทุกอำเภอ เป็นชนส่วนใหญ่ที่สุดของจังหวัด รองลงไปเป็นเชื้อสายจีนซึ่งสันนิษฐานว่าเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

                         นอกจากนี้ยังมีชนชาติที่อพยพเข้ามาภายหลักอีกสองเชื้อชาติ คือ ชาวไทยเชื้อสายมอญ และชาวไทยเชื้อสายมลายู อพยพมาอยู่ในจังหวัดนนทบุรีตั้งแต่สมัย
กรุงศรีอยุธยาสมัยกรุงธนบุรี ตลอดจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังปรากฏหลักฐานในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ดังนี้ “… ในจังหวัดนี้มีชาวไทย
ที่สืบเชื้อสายมาจากมอญ อยู่มาแถวอำเภอปากเกร็ด ตั้งแต่ปากคลองบางตลาดฝั่งเหนือลำแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านตะวันออกและตะวันตก ตำบลอ้อมเกร็ด เหนือเมืองนนทบุรี
ขึ้นไป รวมทั้งเกาะเกร็ดด้วย มีชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากมอญ ซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2317 คราวหนึ่ง กับเมื่อ พ.ศ. 2358 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 อีกคราวหนึ่ง เรียกว่ามอญใหม่โปรดให้แบ่งครอบครัวไปอยู่เมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง และเมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งบัดนี้เป็นอำเภอพระประแดง ขึ้นจังหวัดสมุทรปราการบ้าง
 
                        ไทยอิสลามที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางกระสอและที่บ้านตลาดแก้ว ในตำบลบางตะนาวศรี อำเภอเมืองนนทบุรี มีเชื้อสายเป็นชาวปัตตานี มาอยู่ตั้งแต่
สมัยกรุงศรีอยุธยา เฉพาะตำบลบางกระสอต้นตระกูลได้เป็นแม่ทัพนายกองคนสำคัญของไทยหลายคน
                         ไทยอิสลามตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด เป็นเชื้อสายชาวเมืองไทรบุรี เข้ามาอยู่ในรัชกาลที่ 3
                         ไทยชาวเมืองตะนาวศรีมีรายงานอำเภอสอบสวนได้ความว่า ได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลบางตะนาวศรี อำเภอเมืองนนทบุรีในรัชกาล
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ พ.ศ. 2302 ครั้งทัพไทยตั้งรวมพล อยู่ที่แก่งตูม นอกเขตไทยต้นแม่น้ำตะนาวศรี พม่ายกทัพจะมาตีชาวตะนาวศรีก็หนีเข้ามา…”
  

                       ปัจจุบันผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนนทบุรีนั้น  เป็นคนไทยที่อพยพมาจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ   ทั้งนี้เนื่องจากนนทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปริมาณ
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและด้วยเหตุที่เป็นหนึ่งในจังหวัดปริมณฑล ของกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากจะอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯแล้ว ก็ยังคงความเป็นสังคมเมืองกึ่งชนบท
อยู่ ชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคจึงจะมาพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ดังนั้นความพลุกพล่าน ความหนาแน่นทั้งของ
ประชากร และยวดยานพาหนะภายในจังหวัดนนทบุรี จึงไม่ต่างจากกรุงเทพฯ มากนักโดยเฉพาะอำเภอที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดนนทบุรี
ร้อยละ 89.75 นับถือ ศาสนาพุทธ ร้อยละ 6.91 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.19 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆอีก ร้อยละ 2.15


จำนวนประชากร


                         ปัจจุบันจังหวัดนนทบุรี  มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 816,614 คน (พ.ศ.2543)   มีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของประชากร 1,266.84 คนต่อตารางกิโลเมตร
โดยประชากร ร้อยละ 61.4 อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ส่วนที่เหลือร้อยละ 38.6 อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล

                                                                                            พื้นที่การปกครองและครัวเรือนประชากร

ข้อมูลการปกครอง
ประชากร
อำเภอ
พื้นที่ทั้งหมด (ไร่)
ตำบล
หมู่บ้าน
คน
ครัวเรือน
เมืองนนทบุรี
48,136
10
32
332,388
96,270
ปากเกร็ด
55,640
12
51
177,282
54,664
บางกรวย
35,880
9
59
81,900
21,560
บางบัวทอง
72,774
8
75
130,076
36,706
บางใหญ่
60,249
6
65
55,228
15,639
ไทรน้อย
116,260
7
63
39,740
9,832
รวมทั้งสิ้น
388,939
52
345
816,614
234,365


                                                    ที่มา : ** สำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2543 / รายงานสถิติจังหวัด

อาชีพและรายได้ประชากร

                         จากสภาพภูมิประเทศ ของจังหวัดที่ตั้งอยู่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีสภาพพื้นที่และ แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ประชากรของจังหวัดส่วนใหญ่จึง
ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนาข้าว การเพาะปลูก มะพร้าว มะม่วง มังคุด และผลไม้ที่ทำชื่อเสียงให้กับจังหวัด คือ ทุเรียนเมืองนนท ์ นอกจากนี้ยังมี
การประกอบอาชีพทางด้านปศุสัตว์และประมงน้ำจืด ตลอดจนมีการทำอุตสาหกรรม หลายชนิด อาทิ อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรม
แปรรูปไม้ และอุตสาหกรรม ในครัวเรือนจำพวกเครื่องจักรสานและเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม  ความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมและพาณิชกรรม
ก็ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว  อันเนื่องมาจากการขยายตัวของธุรกิจในเขต กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่เพื่อการเกษตรของจังหวัดนนทบุรีลดน้อยลง โดยในปัจจุบันนนทบุรี มีพื้นที่ทาง การเกษตรคิดเป็นร้อยละ 39 ของพื้นที่จังหวัด รายได้ประชากร

                         ประชากรจังหวัดนนทบุรีมีรายได้เฉลี่ย 113,713 บาทต่อปี โดยรายได้ส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับสาขาอุตสาหกรรม รองลงมาเป็นสาขาการก่อสร้าง
สาขาบริการ สาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาธนาคาร ประกันภัย และธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ส่วนสาขาเกษตรกรรม ทำรายได้เป็นอันดับที่หก ของจังหวัด

ลักษณะภูมิอากาศ

                          สภาพภูมิอากาศของจังหวัดนนทบุรีเป็นแบบร้อนชื้น เช่นเดียวกับพื้นที่ในจังหวัดภาคกลางของประเทศ ภาวะอากาศมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย
33.2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 25.0 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยประมาณ 1,130.9 มิลลิเมตร

ดอกไม้ประจำจังหวัดนนทบุรี

                          คือ ดอกนนทรี เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มสูงได้ถึง 25 เมตร กึ่งผลัดใบ เรือนยอดรูปร่ม แผ่กว้าง ใบเป็นใบประกอบขนนกสองชั้นรูปไข่
ออกดอกเป็นช่อตั้งขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง สีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกในฤดูแล้ง ช่วง เดือนมีนาคม-มิถุนายน

คำขวัญของจังหวัดนนทบุร

                         “พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ”